Skip to content
Loading - MSME Business School

ทำไมครูต้องขายขำ?

ความตลกกับการเรียนดูเหมือนเป็นเรื่องตรงข้ามกัน เพราะการเรียนโดยเฉพาะในชั้นเรียนถูกตีกรอบด้วยวัตถุประสงค์การเรียนรู้และแผนการสอนที่ชัดเจน ใครจะมาเสียเวลากับเรื่องตลก แต่ที่จริงแล้ว “ความขบขัน” หรือ humor เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และการสอดแทรกมุกตลกในการสอนสามารถลดความเครียด ช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในชั้นเรียน สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้ด้วย

หลักทฤษฏีการเรียนการสอนเช่น Social learning theory (Bandura, 1977) และ Socio-cultural theory of learning (Vygotsky, 1994) ต่างก็สนับสนุนว่าการเรียนรู้เกิดจากความสัมพันธ์ในชั้นเรียนทั้งกับเพื่อนในชั้นและผู้สอน การใช้ความขบขันเป็นสะพานเชื่อมไปหาผู้เรียนก็เท่ากับว่าเราช่วยให้เขามีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้นจากความรู้สึกว่าผู้สอนเข้าถึงง่ายและมีใจเปิดกว้าง

Instructional Humor Processing (Wanzer, Frymier, and Irwin, 2010) ซึ่งเป็นทฤษฏียุคใหม่ก็อธิบายว่าการเลือกเรื่องตลกที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนและช่วยนำทางให้ผู้เรียน “เก็ตมุก” ของเรื่องจะช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้นและมีความสนใจในเนื้อหามากขึ้นด้วย

ทำไมครูอาจารย์ไทยไม่ค่อยอยากตลก

งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าความตลกในห้องเรียนไม่ใช่เรื่องที่นักวิจัยหยิบยกมาศึกษามาก จะมีก็แต่ในบริบทการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมและมัธยมเท่านั้น แน่นอนว่าวัฒนธรรมไทยมีส่วนให้ครูอาจารย์ไม่ค่อยอยากตลก ทั้งเรื่องภาพลักษณ์ เรื่องการ “รักษาหน้า” ของผู้ใหญ่ ร่วมทั้งวัฒนธรรมที่ยกให้ครูเป็นผู้รู้ ผู้มีภูมิปัญญา สังคมเองก็คาดหวังว่าครูอาจารย์ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในหน้าที่การงานและพฤติกรรมส่วนตน แต่ถ้าพิจารณากันดีๆ ก็ไม่ได้มีระเบียบข้อบังคับหรือจรรยาบรรณวิชาชีพครูข้อไหนที่ห้ามครูอาจารย์สอดแทรกเรื่องตลกในชั้นเรียน

เด็กภาคไหนชอบให้อาจารย์ตลก

สำหรับนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจนั้นมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต้องทำมากมายทั้งในและนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการคิดโปรเจคธุรกิจ งานบัญชี การเงิน วิเคราะห์การตลาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จบด้วยการส่งรายงานและนำเสนองาน การสอดแทรกเรื่องขำขันระหว่างเรียนก็ช่วยลดความเครียดจากการเรียนได้
จากการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาจำนวน 358 คน ของ Dr. Henzel Embalzado และ ดร. Pair Sajampun อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด พบว่าสาขา Industrial Management (ปัจจุบันคือ Supply Chain Management), Real Estate และ Marketing เป็นกลุ่มสาขาที่นักศึกษาเห็นด้วยกับเรื่องนี้มากที่สุด เพราะเนื้อหาสาระการเรียนรู้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไหวพริบ และการสื่อสารค่อนข้างมาก ส่วนสาขาวิชาที่เห็นด้วยกับเรื่องความตลกในชั้นเรียนน้อยคือในสาขา Accounting และ Management (Entrepreneur and Innovation Management) ทีมวิจัยให้เหตุผลว่าธรรมชาติของสาขา Accounting ต้องการความชัดเจนและถูกต้องของตัวเลข ส่วนสาขา Management นั้นนักศึกษาอาจมองว่าการบ่มเพาะผู้นำธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่เหมาะกับความตลกขบขัน

ถึงอย่างไรก็ดี ความแตกต่างกันของความคิดเห็นระหว่างสาขาต่างๆ นั้นไม่ได้มีนัยสําคัญทางสถิติ นั่นหมายความว่าผู้เรียนส่วนใหญ่จากทั้ง 11 สาขาวิชาเห็นด้วยว่าควรมีการสอดแทรกเรื่องขำขันในชั้นเรียน

อยากตลก เริ่มอย่างไรดี

สิ่งที่ Dr. Henzel ย้ำคือความตลกที่เรากำลังพูดถึงคือการสอดแทรกเรื่องตลกที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน ซึ่งตรงกับทฤษฏี Instructional Humor Processing ที่กล่าวไว้ข้างต้น ตัวอย่างเช่น วิชาที่เกี่ยวกับการบริการในสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว อาจหยิบเอาคลิปวิดีโอสั้นๆ จากช่องยูทูบ Just For Laughs ที่เป็นสถานการณ์ในโรงแรมหรือร้านอาหารมา ซึ่งเป็นการดึงความสนใจของผู้เรียนเข้าสู่บทเรียนได้

นอกจากนี้ Dr. Pair ยังเสริมว่าการเลือกเรื่องตลกนั้นนอกจากจะต้องเป็นเรื่องที่สามารถนำเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนได้แล้ว ควรเป็นประเด็นที่มีความเป็นสากลและใช่เรื่องตลกที่มีสร้างความขบขันจากประเด็นเรื่องวัฒนธรรมหรือประเด็นละเอียดอ่อน

บทสรุป

การสอดแทรกเรื่องตลกในการเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปทำตัวตลกหรือถึงกับฝึกเดี่ยวไมโครโฟนหน้าชั้นเรียน แต่มันคือการเลือกหยิบเอาสถานการณ์ที่ชวนหัวเราะไปวางไว้ในจังหวะที่เหมาะสมกับเนื้อหา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกเป็นกันเองกับผู้สอน และที่สำคัญคือการส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้นด้วย

อ้างอิง

Embalzado, H., & Sajampun, P. (2020). Perspectives of Students in Thailand on the Use of Humor in University Classroom. International Education Studies, 13(4), 17-26. https://doi.org/10.5539/ies.v13n4p17

Back To Top
Search